โชว์เคสอินเดีย-บราซิลตอบโต้ สินค้าจีนบุกตลาดทุบภาคการผลิต

15 สิงหาคม 2567
โชว์เคสอินเดีย-บราซิลตอบโต้ สินค้าจีนบุกตลาดทุบภาคการผลิต
การส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนมีกลุ่มสินค้าดาวรุ่งที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ (ทุเรียน มังคุด ลำไย) ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากยาง รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์  เครื่องจักร และเครื่องใช้ไฟฟ้า (สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า) และสินค้าอุปโภคบริโภค  ทั้ง เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น และผลิตภัณฑ์พลาสติก 

“มูลค่านำเข้ามีการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออก  โดยนำเข้าเติบโตเฉลี่ย 8.2%  ต่อปี ขณะที่ส่งออกเติบโต เฉลี่ย 2.5% ต่อปี  (CAGR ระหว่างปี2560 – 2566)  จึงนำไปสู่การขาดดุลการค้ากับจีนที่ส่งผลรุนแรงมากขึ้นในหลากหลายสินค้า”

โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนจากการขาดดุลการค้ากับจีนคือการหดตัวของภาคการผลิต สะท้อนจากการหดตัวของ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2566 ที่หดตัว 3.8% โดยภาคการผลิตที่มีอัตราการหดตัวสูง เป็นสินค้ากลุ่มเดียวกับสินค้าที่มีมูลค่าขาดดุลมาก อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์  อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์  หดตัว18.9%  การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า  หดตัว 14.5%  และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน หดตัว 6.7%  ซึ่งการหดตัวของภาคการผลิตข้างต้น ส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงานภายในประเทศด้วย

โดยข้อมูลของกระทรวงแรงงานระบุว่า ในปี 2566 มีสถานประกอบการแจ้งหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 จำนวน

656 แห่ง เพิ่มขึ้น 9.7% กระทบต่อแรงงาน 312,938 ราย เพิ่มขึ้น35.4%  ซึ่งในจำนวนนี้เป็นอุตสาหกรรมการผลิตถึง 524 แห่ง เพิ่มขึ้น 15.7%  คิดเป็นสัดส่วน79.9%  ของการหยุดกิจการชั่วคราว สำหรับสาเหตุของการหยุดกิจการ ได้แก่ มีการยกเลิกคำสั่งซื้อจำนวนมาก ขาดทุนสะสม และขาดแคลนวัตถุดิบ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เผยแพร่ผลศึกษา“แนวทางลดการขาดดุลการค้าไทย-จีน” สาระสำคัญส่วนหนึ่งมีการนำเสนอกรณีศึกษาการรับมือกับสินค้าจีนที่เข้าไปบุกตลาดในประเทศต่างๆ ซึ่งรูปแบบการรับมือเพื่อแก้ปัญหามีหลากหลายวิธี 

กรณีศึกษานโยบายและมาตรการรับมือกับสินค้าจีนของต่างประเทศของประเทศบราซิล ซึ่งเผชิญสถานการณ์ในช่วง2-3 ทศวรรษที่ผ่านมากับการนำเข้าของสินค้าจีนที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งภาคการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องจักร 

“ผู้ผลิตในประเทศบราซิลต้องแข่งขันกับสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งการตอบสนองของรัฐบาลบราซิลเป็นการผสมผสานกันระหว่างการเยียวยาทางการค้า นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม การกระจายความเสี่ยงในการส่งออก การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การรับรองคุณภาพ และการส่งเสริมนวัตกรรม” 

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบของการนำเข้าของจีนต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นโยบายและกลยุทธ์ต่าง ๆ  ได้แก่ การเยียวยาทางการค้าและมาตรการทางภาษี เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD)  มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(Safeguard Measure: SG) เพื่อจัดการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรมและปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากผลกระทบเชิงลบจากการนำเข้าของจีน              

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการแข่งขันสำหรับผู้ผลิตชาวบราซิล โดยการกำหนดอัตราภาษีหรือโควตาสำหรับสินค้านำเข้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ

นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ รัฐบาลบราซิลได้ดำเนินนโยบายและให้มาตรการสนับสนุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศที่เผชิญกับการแข่งขันจาก การนำเข้าของจีน ซึ่งรวมถึงสิ่งจูงใจทางการเงิน การลดหย่อนภาษี และเงินอุดหนุนที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนนวัตกรรม และการยกระดับเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ

การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เช่น ท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ และเครือข่ายการขนส่งอื่น ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการขนส่ง เพิ่มการเชื่อมต่อและประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม ในประเทศสามารถแข่งขันกับการนำเข้าจากจีนได้มากขึ้น

การรับรองคุณภาพและมาตรฐาน ดำเนินการรับรองและมาตรฐานคุณภาพเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้านำเข้ารวมถึงสินค้าจากจีน เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานคุณภาพ ซึ่งจะช่วยปกป้องผู้บริโภคและส่งเสริม ซึ่งการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้สินค้านำเข้ามีคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ 

การส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศ และสร้างความแตกต่างจากการนำเข้าของจีนรวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงมาใช้

ด้านประเทศอินเดีย ได้ดำเนินมาตรการเพื่อรองรับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม 

นอกจากนี้ อินเดียยังได้เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพและข้อกำหนดการรับรองสำหรับผลิตภัณฑ์นำเข้า เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของผู้บริโภคและปกป้องผู้ผลิตในประเทศ อีกทั้งยังได้ดำเนินโครงการริเริ่มเพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าผ่านโครงการ “Make in India” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนและการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ 

นโยบายและกลยุทธ์ต่าง ๆ อาทิ การเยียวยาทางการค้าและมาตรการทางภาษี อินเดียได้กำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti-dumping: AD) สำหรับสินค้านำเข้าของจีนหลายชนิด เช่น เหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม 

ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจะเรียกเก็บจากการนำเข้าที่ขายในราคาที่ต่ำกว่าตลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(Safeguard Measure: SG) ร่วมด้วย 

ทั้งนี้ หน่วยงาน Directorate General of Trade Remedies (DGTR)จะทำหน้าที่ตรวจสอบแนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และแนะนำมาตรการที่เหมาะสมเพื่อจัดการกับการนำเข้าที่ขยายตัว

มาตรฐานคุณภาพและข้อกำหนดการรับรอง เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพและข้อกำหนดการรับรองสำหรับผลิตภัณฑ์นำเข้า รวมถึงการออกใบรับรองภาคบังคับ สำหรับสินค้าบางประเภทเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ ด้านความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของอินเดีย และช่วยปกป้องผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศจากการนำเข้าสินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

การส่งเสริมการผลิตในประเทศ ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าภายใต้โครงการ “Make in India” ตั้งแต่ปี  2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุน นวัตกรรม และการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เภสัชกรรม และสิ่งทอ และมุ่งหวังที่จะเพิ่มขีดความสามารถการผลิตภายในประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก

นโยบายและแรงจูงใจเฉพาะ อินเดียได้เสนอนโยบายและสิ่งจูงใจสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการมุ่งเน้น เช่น รัฐบาลได้ประกาศโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (Production Linked Incentives : PLI) สำหรับภาคการผลิตใน 14 อุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดแวร์ ด้านไอที โทรคมนาคม เภสัชกรรม ชุดอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ สินค้ากลุ่มโลหะและเหมือง สิ่งทอและ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดใหญ่ โดรน และเซลล์ แบตเตอรี่ที่มีส่วนประกอบเคมีขั้นสูงเพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าของจีน

การทบทวนข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อินเดียได้ริเริ่มการทบทวนFTAกับประเทศหุ้นส่วน รวมถึงจีน เพื่อจัดการกับความกังวลเกี่ยวกับความไม่สมดุลทางการค้าและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

“รัฐบาลได้พยายามที่จะเจรจาเงื่อนไขของ FTA ที่มีอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าการค้าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันทั้งสองฝ่ายและปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมในประเทศ”

หากพิจารณาจากสินค้าที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทคโนโลยี  ที่การเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็วทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวมีอัตราเร่งไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงทางการค้าจากเดิมใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าร่วมกันแบบ วิน วิน กำลังกลายเป็นเงื่อนไขที่แม้ไม่ได้ทำให้ความสามารถการแข่งขันของไทยลดลง แต่ทำให้สินค้านำเข้าจากจีน สะดวกและไม่มีภาษี ง่ายต่อการนำเข้าเพิ่ม 

ทั้งนี้ ปัญหาการขาดดุลการค้าขณะนี้ กำลังทำให้ภาคการผลิต ผู้ค้า ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต้องเผชิญการแข่งขันที่ยากและรุนแรงขึ้นเพราะจีนเข้ามาทำตลาดโดยตรงในประเทศดังกล่าว การแก้ไขด้วยการใช้หลายๆมาตรการมารวมกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีและยั่งยืน มากกว่าการมุ่งแต่จะสกัดสินค้าจีนเพียงอย่างเดียว 

 


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.